x
Submitted by CUEDU_PR on 29 June 2020

ธรรมะดีๆ ตอนที่ 9 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563 สรุปคำสอนหลวงปู่เทศ ตอนที่ 3 พระอริยสาวก
ถ่ายทอดโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา บวรกิติวงศ์

1. คุณสมบัติพระโสดาบัน ระลึกถึงพระพุทธเจ้าตลอดเวลา เคารพจริงจนทำให้ศีลบริสุทธิ์ ไม่กล้าขัดขืนคำสอน พระโสดาบันมีความตายเป็นอารมณ์ ถึงกรรมบถ 10 (กาย3 วจี4 มโน3) มีพรมวิหารสี่ หิริโอตตับปะ จิตมีสภาพทรงตัว อารมณ์จิตเยือกเย็น ยังรักสวยรักงามแต่ไม่ลืมความตาย พระโสดาบันยังเกาะทรัพย์สินแต่อยู่ในกรอบของศีล

2. พระสกิทาคามี ทรงพรมวิหารสี่เข้มข้นกว่าพระโสดาบัน ยังละร่างกายไม่ได้เด็ดขาด ยังพอใจความสวยสดงดงามของร่างกาย ยังพอใจกับการแต่งตัว จิตเป็นอภัยทานมากขึ้น คลายความโกรธได้เร็วขึ้น เห็นคนชั่วเป็นเหยื่อของอบายภูมิ น่าสงสาร เวลาเจ็บใจให้อภัยได้ในสองวันสามวัน จาคาเพิ่มขึ้นมาก เห็นความตายเป็นที่สุด เป็นคนปล่อยวางง่าย เป็นคนให้ง่าย ไม่ยึดติดในทรัพย์ ทำให้บรรเทาจางคลายความโลภโกรธหลง มีจาคานุสติเป็นอารมณ์ ชอบให้ ไม่ตระหนี่ เห็นทรัพย์สินเป็นของนอกกายเอาไปไม่ได้ สงเคราะห์ให้คนอื่นมีความสุข ไม่ต้องการผลตอบแทน ให้เพื่อลดกิเลสตระหนี่มัธยัสถ์ ให้เพื่อลดโลภ ไม่เอ่ยปากขออะไรใครง่ายๆ การขอเป็นเรื่องน่าอายหน้าด้าน เป็นกิริยาของคนเลว พระพุทธเจ้าจึงห้ามการขอ จนกว่าจะถึงที่สุด จะขอเมื่อเห็นว่ามันถึงความจำเป็นจริงๆ การแสวงหาทรัพย์เกินพอดีไม่ทำแล้ว เพราะประหยัดในทุกอย่างทำตามพระพุทธเจ้าได้ คลายความยึดในทรัพย์สินลงได้ เห็นร่างกายสวยแต่สกปรก

3. พระอนาคามี พรมวิหารสี่บริสุทธิ์ มีอภัยทานเป็นอารมณ์ ไม่มีหน้าเครียด เขาไม่ดีเรื่องของเขา เขารับกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเรา เห็นร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันตาย ตายแน่ พระโสดาบันยังพอใจตกแต่งร่างกาย พระสกิทาคามีตกแต่งร่างกายน้อยลง เห็นกายน่าเบื่อสกปรก พระอนาคามีเห็นความสวยสดของร่างกายไม่มีเลย เห็นแต่ความสกปรก เห็นคนเหมือนซากศพ น้ำเลือดน้ำหนองน้ำเหลืองไหลออกมาส่งกลิ่นเหม็น น้ำลายออกมายังไม่อยากเอามือแตะ อุจจาระก็ไม่อยากเอามือแตะ เห็นร่างกายทั้งทุกข์ทั้งสกปรก หาความเที่ยงแท้ไม่ได้ อาบน้ำเสร็จก็ยังสกปรก แปรงฟันเสร็จก็ยังสกปรก เหงื่อที่ออกก็สกปรก ผลผลิตจากร่างกายล้วนสกปรก ที่ไม่สกปรกไม่มี ไม่ว่าจะเป็นลมเรอ ลมหายใจ ลมปาก ลมทางก้น กินอาหารมาจากสิ่งสกปรก มาจากปุ๋ย (ขี้) กินของโสโครกกันตลอดเวลา คนเหมือนอุจจาระเคลื่อนที่ ไม่มีตรงไหนสะอาดเลย เหม็นเหมือนสุนัขเน่า เบื่อร่างกายเพราะสกปรก เป็นภาระต้องดูแล แม้จะเอาใจใส่มากก็ยังป่วยยังเหม็น เกิดนิพพิทาญาณ มองเห็นความจริง มีแต่ทุกข์ การต้องดูแลสิ่งสกปรกด้วย ทุกข์ด้วย ไม่เที่ยงด้วย ทำให้ค่อยๆลดความรักร่างกาย ลดความยึดมั่น อารมณ์กามลดลงจนไม่มีอารมณ์เพศ ศีลบริสุทธิ์ 24 ชม. ทรงอารมณ์กุศลตลอด 24 ชม. ตัณหาแทบไม่มี ตัดทุกข์ได้เร็ว พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ 5 ข้อ คือ สักกายทิฐิ (กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา) วิจิกิจฉา (หมดความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า เดินตามอย่างเคร่งครัด) สีลพตปรามาส (ไม่หลงงมงายในความเชื่อต่างๆ) ปฏิคะ (ความโกรธ) กามราคะ (การติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส กามารมณ์) มีนิพพานเป็นอารมณ์ ทำแต่กุศลล้วน ละอกุศลได้จริง เมตตา กรุณาสูง อาการใดๆที่เกิดกับร่างกายถือเป็นเรื่องธรรมดา เจ็บป่วยรักษาไม่หายก็ไม่เป็นไร ทำดีที่สุดแล้ว ไม่สนใจกับมันอีกเรียกว่าทรงสังขารุเบกขาญาณ วางเฉยในขันธ์ห้าเพราะรู้อยู่แล้วว่ามันไม่เที่ยง มีเสื่อมเป็นธรรมดา ตัดกามฉันทะด้วยเห็นความสกปรก น่ารังเกียจ ไม่เที่ยง ของทั้งสกปรก เสื่อม ไม่เที่ยง อนัตตา แล้วส่วนไหนตรงไหนที่เป็นเรา เป็นของเรา เห็นว่าผูกพันในร่างกายเท่าไรทุกข์มากเท่านั้น มีความรักความเมตตากรุณามุทิตามากจนไม่มีอารมณ์โกรธ ให้อภัย ไม่นินทาเพราะเมตตา จนไม่สามารถนินทาได้ วางอุเบกขาคนที่ทำไม่ดีกับเรา วางเฉยต่อคำนินทา แม้คำชมสรรเสริญก็ไม่ให้ค่า

4. พระอรหันต์ ไม่หลงใหลอะไรในโลก (มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิด เสื่อม ดับ ไม่มีสุขเจือปนอยู่เลย) ไม่หลงตน ไม่มีทิฐิมานะความถือตัว เห็นทุกคนตายเหมือนกันหมด จิตยังฟุ้งซ่านบ้างแต่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ฟุ้งซ่านในเรื่องดี ที่สุดตัดอวิชชาได้เป็นตัวสุดท้าย จบด้วยการไม่ติดในอะไรแม้แต่ตัวเอง พระอรหันต์ทรงอารมณ์สังขารุเบกขาญาณเป็นปกติ เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด ป่วยก็ช่าง เจ็บก็ช่าง ตายก็ช่าง เป็นธรรมดา กายป่วยจิตไม่ป่วย ปราศจากการรบกวนของเวทนา เป็นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงของขันธ์ห้า ทำให้สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง