x
Submitted by CUEDU_PR on 6 October 2020

ธรรมะดีๆ ตอนที่ 18 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 การปฏิบัติเพื่อละตัวตน ถ่ายทอดโดย รศ.ดร.สุชาดา บวรกิติวงศ์
.
มนุษย์มักคิดว่าเรากำลังเจ็บ เรากำลังป่วย ยังมีตัวเราผู้เจ็บผู้ป่วย การภาวนาอย่างถูกต้องจะช่วยลดตัวตน ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกาย หากจิตยังเห็นเป็นของรักของชัง ยังเห็นเป็นเขาเป็นเรา ยังเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง
.
ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ รักมากทุกข์มาก ความรักถ่วงให้ยังอยู่ในโลก เริ่มต้นละความรักอย่างหยาบก่อน ความรักละเอียดละยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป รักหยาบคือรักที่ผิดศีลธรรมเช่นรักเมียคนอื่น รักละเอียดเช่น รักสามีภรรยาลูก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น คนส่วนมากไม่พยายามละความรักความชัง เพราะไม่เห็นความจำเป็น ทำให้เหมือนสัตว์ที่ชอบแย่งกันกินของโสโครก ไม่ส่งเสริมความชั่วเช่นหากใครมาชวนให้ไปทะเลาะกับใคร ให้อยู่ห่างๆ ไม่ด่าตอบ
.
หากขอยืมเขาไม่ให้ เมื่อเขามายืมจะตอบโต้ไม่ให้แบบเดียวกัน อันนี้ไม่ใช่หนทางพระพุทธเจ้าสอน พระองค์ให้เอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ขอเขาไม่ให้แต่เขาขอเราให้ได้ไม่ต้องคิดแก้แค้น พึงชนะการโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ ใครทำได้จะไม่มีศัตรู เวรระงับด้วยการไม่จองเวร หากกุศลน้อยจะยังทำไม่ได้ บุญบารมียังไม่พอ ใจยังอ่อนไหวอยู่ จึงต้องเร่งความเพียร ใครด่าก็ใจกว้างไม่ด่าตอบ
.
เมื่อปัญญามากพอจะตัดกิเลสได้จริง หัดปล่อยวางขันธ์ห้าไปเรื่อยๆ นานเข้าก็ปล่อยวางได้จริง เมื่อจิตรู้ตัวว่ามาอาศัยกายที่ไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ เลิกกระทำกรรมชั่วใส่ตัวเอง เมื่อจิตไม่ยึดกาย จิตจะเห็นธรรม ปัญญาเกิดรู้แจ้งเห็นเป็นสภาวธรรม ไม่มีใครเสวยสุขทุกข์ หากมีผู้เสวยแสดงว่ายังมีความหลง (โมหะ).
.
การปฏิบัติธรรมคือเห็นอะไรไม่ดีให้ละ ละบ่อยเข้ากิเลสจะจางลง เศรษฐีคนหนึ่งเห็นพระปัจเจกเกิดศรัทธา บอกให้ภรรยาเอาอาหารประณีตใส่บาตร หลังใส่บาตรแล้วเกิดเสียดายอาหารนั้น ด้วยอานิสงส์ของการใส่บาตรให้พระปัจเจกแรงมากส่งผลให้เขาเกิดเป็นเศรษฐีแต่ขี้เหนียวไม่กล้าใช้เงินถึง 30 ชาติ เป็นเศรษฐีตระหนี่เพราะความเสียดายอาหารที่ใส่บาตร ตายไปสมบัติตกเป็นของแผ่นดิน เอาเกวียนมาขนสมบัติเข้าคลัง อย่าประมาทในการสะสมบุญ น้ำทีละหยดก็เต็มโอ่งได้ ทำบุญแบบไม่เสียดายคือทำเท่าที่เต็มใจจะได้ไม่เกิดความเสียดายในภายหลัง
.
อุบายละสังขาร รูปนาม ต้องมีสติตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ค่ากับอดีต อนาคต สังเกตกายใจแต่ละวันไม่เหมือนกันจนเห็นความไม่เที่ยง เห็นความจริงของชีวิต มีแต่สิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เริ่มจากเห็นทุกข์ของกาย หากจิตรู้เท่าทันจะไม่หวั่นไหวไปตามกาย กายและจิตไม่ใช่สิ่งเดียวกัน กายป่วยจิตไม่จำเป็นต้องป่วยตาม เห็นความจริงว่ากายป่วย มีจิตเป็นผู้รู้ผู้เห็นว่ากายป่วยแล้วลงที่กฎธรรมดา การป่วยเป็นเรื่องธรรมดา
.
เหตุที่ยังเดือดร้อนเพราะเกิดจากการรักกาย ใครทำร้ายเราควรสงสารที่เขาจะต้องรับกรรมมากกว่าเกิดการเจ็บใจ การเจ็บใจแสดงว่ายังหวงร่างกาย (เป็นของเราใครจะมาทำอะไรไม่ได้) เพราะจิตอ่อนจึงหวง นักปฏิบัติตัวจริงจะไม่หวงร่างกายมองเป็นของว่าง เป็นอนัตตา จึงไม่รักตัวเองมากเกินไป
.
สรุปการปฏิบัติเพื่อละตัวตนคือ 1) อยู่กับปัจจุบัน ไม่กังวลอดีต อนาคต 2) รักตัวเองให้น้อยลง (ค่อยๆปล่อยวางร่างกาย) เห็นร่างกายเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ทุกอย่างลงที่กฏธรรมดา