x
Submitted by CUEDU_PR on 3 February 2021

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564เวลา 13.30 น. โครงการ Edu CoWorking Season 2   จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ Acting for Learning  Ep.1 โดย คุณสยม  สังวริบุตร (ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่นจำกัด) เป็นวิทยากร และร่วมเสวนากับอาจารย์จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม อีก 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์กมลชนก  สกลธวัฒน์  อาจารย์พริ้วฝน  เทียนศรี  ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ธีรวดี  ถังคบุตร (อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารทางการศึกษา)

ประเด็นสำคัญของการเสวนากล่าวถึง Active for Learningคือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน 2 ประการ คือ 1) การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์  2) แต่ละบุคคลมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน โดยผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้

การแสดงบทบาทสมมติ (Role playing) เป็นเทคนิคการสอนรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาท  สภาพความเป็นจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งเทคนิคการสอนรูปแบบนี้ นับว่าเป็นการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

         เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมตินั้น เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติตามเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการแสดงออก ทั้งจากการแสดงออกทางกายและการเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวละคร เรื่องราว สถานการณ์ ตามสภาพความเป็นจริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความกล้าแสดงออก มีทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและรู้จักที่จะทำงานทีม โดยในการสอนรูปแบบนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

         - การแสดงบทบาทสมมติแบบละคร คือการแสดงบทบาทสมมุติโดยที่มีเรื่องราวกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ผู้เรียนทราบถึงเรื่องราวคร่าว ๆ และแสดงเรื่องราวตามบทบาทตัวละครที่ได้รับ

         - การแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา คือการสมมุติสถานการณ์ แล้วให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติเพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองกับสถานการณ์นั้นตามความคิดเห็นของตัวเอง

ประโยชน์ของการสอนในลักษณะนี้ คือ การที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจ เรื่องราวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองที่มาจากบทบาทการแสดงได้  มีการร่วมมือกับเพื่อนซึ่งเป็นผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม และยังเป็นแนวการสอนที่สนุกสนานและส่งเสริมความกล้าแสดงออกให้กับผู้เรียน นอกจากยังแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้อีกด้วย

 

ทุกท่านสามารถรับชมการบรรยายในหัวข้อต่อไปได้ที่ https://www.facebook.com/karusart.edu.chula/live/