ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา (ห้องสมุดคณะครุศาสตร์) ตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย เป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้านการศึกษา ซึ่งรวบรวมและคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีคุณค่าทางด้านการศึกษา ที่เข้าใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว การบริการด้านวิชาการเชิงค้นคว้า จากหนังสือและสื่อ พร้อมทั้งการสืบค้นข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังมีประวัติความเป็นและการพัฒนาต่อไปนี้
พ.ศ. 2499
นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของห้องสมุด เมื่อมหาวิทยาลัยอินเดียนนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และได้พัฒนาห้องสมุดของคณะครุศาสตร์เป็นอย่างมาก ได้จัดส่งหนังสือ วารสาร และอุปกรณ์การศึกษาหลายชนิด อีกทั้งยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุด คือ Miss Margaret Griffin มาจัดระบบงานเทคนิค โดยได้เริ่มใช้ระบบทศนิยมดิวอี้จัดหมวดหมู่หนังสือ และวางรากฐานในการบริการต่าง ๆ ให้เป็นสากล
พ.ศ. 2501-2503
เมื่อการก่อสร้างอาคารพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของคณะครุศาสตร์ได้แล้วเสร็จ ห้องสมุดคณะครุศาสตร์ก็ได้ย้ายที่ทำการจากคณะอักษรศาสตร์มาอยู่ที่อาคารใหม่ ห้องสมุดอยู่ที่ปีกซ้ายของอาคาร เป็นการออกแบบโครงสร้างเป็นห้องสมุดโดยเฉพาะ กล่าวคือ ภายในจะเป็นหลังคาสูงตรงกลางเป็นกระจกให้แสงสว่างส่องเข้ามาได้
พ.ศ. 2503-2532
Miss Margaret Griffin และอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ได้มีการรวบรวมตำราเรียน หลักสูตร และคู่มือครูทุกระดับชั้น และการจัดระบบหนังสือเป็นหมวดหมู่ด้วยระบบทศนิยมดิวอี้ มีบัตรรายการในการช่วยค้น ซึ่งกล่าวได้ว่า ห้องสมุดคณะครุศาสตร์เป็นตัวอย่างการจัดห้องสมุดตามหลักสากลเป็นห้องสมุดแห่งแรกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2533-2535
ห้องสมุดคณะครุศาสตร์เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานบริการ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS ซึ่งพัฒนาโดย UNESCO โปรแกรม DBASE 3 PLUS บันทึกข้อมูลวิทยานิพนธ์ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2536 ได้มีโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จากระบบ Stand alone มาเป็นระบบการทำงานแบบเครือข่าย(LAN=Local Area Network)
พ.ศ. 2537
ยกเลิกการใช้โปรแกรม CDS/ISIS เปลี่ยนเป็นโปรแกรม INNOPAC ซึ่งทางสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแม่ข่าย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงานบริการ ทางด้านเทคนิคจากห้องสมุดปฏิบัติการด้วยมือเป็นระบบห้องสมุดอัตโนมัติ นับได้ว่า พ.ศ. 2537 นี้เป็นช่วงที่สำคัญของการพัฒนาห้องสมุดคณะครุศาสตร์อย่างยิ่ง และยังได้เปลี่ยนชื่อจากห้องสมุดคณะครุศาสตร์มาเป็นศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ตามคำสั่งคณะครุศาสตร์ ที่ 253/2537 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537
พ.ศ. 2538
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นข้อมูลของตนเอง โดยได้จัดซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป INFOMA เพื่อเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ ข่าวการศึกษา วารสารครุศาสตร์โดยเก็บในรูปฉบับเต็ม (Full text)
พ.ศ. 2539
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้พัฒนาไปสู่ห้องสมุดอัตโนมัติ นิสิตและอาจารย์ภายในคณะครุศาสตร์และต่างคณะ ฯ สามารถใช้บัตรใบเดียวยืมหนังสือได้อย่างเต็มรูปแบบ
พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้รับงบประมาณเงินทุนคณะ ฯ ปรับปรุงพัฒนาระบบจัดเก็บเอกสารและข้อมูลเพื่อให้สามารถบริการฐานข้อมูล วิทยานิพนธ์ข่าวการศึกษา วารสารครุศาสตร์ จุลสาร และอื่น ๆ บน Web
จากประวัติความเป็นมาของศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษาได้มีการปรับปรุง และการพัฒนาดังกล่าวเป็นความพยายามของผู้บริหารระดับสูงของคณะครุศาสตร์ร่วมกับผู้บริหารห้องสมุดดังรายนามดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2497 – 2503 1. Miss Margaret Griffin ที่ปรึกษา
พ.ศ. 2498 – 2503 2. ศาสตราจารย์ อำไพ สุจริตกุล ผู้บริหาร
พ.ศ. 2501 - 2531 3. รองศาสตราจารย์ วิบูลเพ็ญ ชัยปราณี อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์
พ.ศ. 2502 – 2535 4. รองศาสตราจารย์ ทรรศนียา กัลยาณมิตร อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์
พ.ศ. 2501 – 2525 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุฑารัตน์ แพส อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์
พ.ศ. 2525 – 2536 6. อาจารย์ ดร. บุญเรือง เนียมหอม บรรณารักษ์
พ.ศ. 2536 – 2553 7. ดร. สุวิมล ธนะผลเลิศ บรรณารักษ์
พ.ศ. 2553 – 2554 8. ดร. ปิยะ ศักดิ์เจริญ บรรณารักษ์
พ.ศ. 2555 – 2557 9. นางสาวศรีไพร โชติจิรวัฒนา บรรณารักษ์
พ.ศ. 2557 10. อาจารย์ ดร.บุษกร เลิศวีระศิริกุล อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์
พ.ศ. 2558 - 2559 11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก อาจารย์ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ อาจารย์ ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ อาจารย์ ดร.ศรเนตร อารีโสภณพิเชฐ และ อาจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ อาจารย์ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการ