x
  
          ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดำริให้คณะครุศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาวิชาชีพครูชั้นสูง ผลิตครูที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนวิชาเฉพาะสาขาขึ้น จึงได้ขอให้ อาจารย์วิรัตน์ พิชญไพบูลย์ เป็นผู้เสนอแผนการจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษาขึ้น (สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, 2544)  ในปี พ.ศ. 2511 เป็นแผนกวิชาที่สิบของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จุดมุ่งหมายเพื่อให้คณะครุศาสตร์มีการบุกเบิกการเรียนการสอนวิชาศิลปศึกษาในรูปแบบใหม่ โดยนำศาสตร์ศิลปศึกษามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคคล อันหมายถึงการส่งเสริมพัฒนาการและการแสดงออกทางศิลปะในเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดศักยภาพสูงสุดในตัวเอง รวมทั้งการพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะในระบบการศึกษา  โดยนำหลักทฤษฎีทางการศึกษาแนวใหม่มาใช้ การจะสนองต่อการบุกเบิกพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องมีครูศิลปศึกษาที่มีศักยภาพและปริมาณที่เพียงพอ จึงได้เสนอขอเปิดหลักสูตร “ปริญญาครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเฉพาะ (ศิลปศึกษา)” ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการผลิตครูศิลปศึกษาสำหรับสอนวิชาศิลปะและศิลปะปฏิบัติในโรงเรียนประถม โรงเรียนสามัญ โรงเรียนมัธยมแบบประสม  โรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนและวิทยาลัยครูตลอดจนสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่มีการสอนวิชาศิลปะและศิลปะปฏิบัติเป็นวิชาสามัญและบังคับเรียน และได้เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี ในสาขาวิชาศิลปศึกษา เป็นแห่งแรกของประเทศไทย (คณะครุศาสตร์, 2511) การทำงานในระยะแรกใช้อาคารเรียน 3 ชั้น 3 เป็นห้องทำงาน (สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิรัตน์ พิชญไพบูลย์, 2547) ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกรื้อทุบและได้สร้างอาคารประชุมสุข อาชวอำรุง ทดแทนบนพื้นที่เดิม ต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกสภามหาวิทยาลัยในเวลานั้น ได้ลงนามอนุมัติข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้คณะครุศาสตร์ มีแผนกวิชาศิลปศึกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2513 (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2513) จากความจำเป็นและความต้องการใช้พื้นที่สำหรับการเรียนการสอนศิลปะซึ่งต้องอาศัยห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องทำกิจกรรมศิลปะ ที่สนองต่อการผลิตบัณฑิตตามที่ปรากฏในแผนการจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษา รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณสร้างอาคารแผนกวิชาศิลปศึกษา ให้แก่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวงเงิน 14 ล้านบาท โดยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อนุมติให้ใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันออกติดโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ตามที่ ศาสตราจารย์พูนทรัพย์  นพวงศ์ ณ อยุธยา เสนอขอ  โดยมี ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แหลมฉาน หัสดินทร์ และอาจารย์ กิตติ สินธุเสก อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปนิก และอาจารย์วิรัตน์     พิชญไพบูลย์  เป็นสถาปนิกที่ปรึกษา (คณะครุศาสตร์, ม.ป.ป.) ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดไว้เป็นอาคาร 2 ชั้น ต่อมา ได้เล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องสามารถรองรับการขยายงานของแผนกวิชาในอนาคต รวมทั้งลักษณะการใช้งานอาคารต้องการพื้นที่ประกอบกิจกรรมการเรียนภาคปฏิบัติหลายแขนงวิชา ตลอดจนกิจกรรมของนิสิต จึงควรได้ปรับแก้ไข ชั้น 1 ให้เป็นชั้นโถง และขยายอาคารให้สูงขึ้นเป็นอาคาร 3 ชั้น ในงบประมาณที่ได้รับเท่าเดิม
เมื่อเริ่มเปิดหลักสูตร แผนกวิชาศิลปศึกษามีคณาจารย์ประจำได้แก่ อาจารย์วิรัตน์ พิชญไพบูลย์ อาจารย์อิทธิ คงคากุล อาจารย์วัฒนะ จูฑะวิภาต อาจารย์สัญญา วงศ์อร่าม และอาจารย์ปิยะชาติ แสงอรุณ (สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิรัตน์ พิชญไพบูลย์, 2544) และต่อมาได้เปิดวิชาเอกเพิ่มขึ้นอีกคือ วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์โดยมี อาจารย์สุรัตน์ วัณโณ เข้ามาดูแลรายวิชาในวิชาเอกดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2520 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปลี่ยนชื่อเรียกหน่วยงานระดับแผนกวิชาเป็น ภาควิชา เพื่อให้เกิดความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น แผนกวิชาศิลปศึกษาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาศิลปศึกษา และยังคงเปิดรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ในเวลาเดียวกันภาควิชาศิลปศึกษาได้บรรจุคณาจารย์เพิ่มขึ้นอีกคือ อาจารย์กำจร สุนพงษ์ศรี และอาจารย์เกษร ธิตะจารี  ทำให้ภาควิชา ฯ มีความแข็งแกร่งทางวิชาการมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ  
          ในปี พ.ศ. 2526 ภาควิชาศิลปศึกษามีคณาจารย์ใหม่ที่จบการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิตจากสหรัฐอเมริกา คือ อาจารย์ ดร.สุลักษณ์ เทียนสุวรรณ อาจารย์ ดร.อำไพ ตีรณสาร และอาจารย์ ดร.สันติ          คุณประเสริฐ  ทำให้ภาควิชาศิลปศึกษามีความพร้อมในการเปิดหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา ตามเจตจำนงที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิรัตน์ พิชญไพบูลย์ มุ่งหมายไว้ โดยมีรองศาสตราจารย์       ปิยะชาติ แสงอรุณ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปศึกษาในขณะนั้นเสนอขอเปิดหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา และได้รับอนุมัติจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2527 โดยเปิดรับนิสิตรุ่นที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2528   ในปีเดียวกันภาควิชาศิลปศึกษาได้บรรจุอาจารย์ชัยณรงค์ เจริญพานิชย์กุล มาปฏิบัติหน้าที่การสอนในสายวิชาจิตรกรรม สืบแทน อาจารย์อิทธิ คงคากุล ซึ่งมีความจำเป็นต้องย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
การเปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ ทำให้มีความต้องการอาจารย์ที่มีวุฒิระดับปริญญาเอกมาประจำหลักสูตรเพิ่มขึ้นอีก ในปี พ.ศ. 2531 ภาควิชาฯ ได้รับอัตราบรรจุอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกามาประจำหลักสูตร ฯ คือ อาจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์  ความพร้อมของหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาศิลปศึกษาในเวลานั้นมีคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์สูงทั้งด้านทฤษฎีและทักษะการสอนศิลปศึกษาที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงและเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์และคุณวุฒิ ให้แก่อาจารย์ที่สอนในสาขาวิชาศิลปศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตครู  บุคคลากรทางการศึกษา นักวิชาการและนักวิจัยทางศิลปศึกษาที่มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ ไปเป็นผู้นำทางวิชาการสามารถสร้างและวิจัยองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย   ผู้ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ศิลปศึกษา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ โบราณคดี และอุตสาหกรรมศิลป์ ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงหลักสูตรมาเป็นระยะ ๆ 
          ในปี พ.ศ. 2534  ภาควิชาฯได้บรรจุ อาจารย์สมโภชน์ ทองแดง  เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่การสอนในสายวิชาจิตรกรรม สืบแทนอาจารย์ชัยณรงค์ เจริญพานิชกุล  และเพื่อให้การสอนในสายวิชาออกแบบและอุตสาหกรรมศิลป์ ยังคงความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2535 ภาควิชาฯ จึงได้บรรจุ อาจารย์พรเทพ เลิศเทวศิริ เพื่อเป็นอาจารย์ผู้สอนในสายวิชาดังกล่าว สืบแทน อาจารย์สุรัตน์ วัณโณ ซึ่งมีความจำเป็นต้องไปก่อตั้งและบริหารบริษัทบ้านก้ามปู และเป็นนักวิชาการอิสระด้านการออกแบบจัดสวน ต่อมาในพ.ศ. 2538 ได้บรรจุ อาจารย์วัชรินทร์ ฐิติอดิศัย เพื่อมาเป็นอาจารย์รับผิดชอบการสอนในสายวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์  ศิลปะพื้นบ้าน และภูมิปัญญาไทยด้านศิลปะ ให้แก่หลักสูตรระดับปริญญาตรีและโทของภาควิชาศิลปศึกษา
          ตลอดระยะเวลา 35 ปี  ภาควิชาศิลปศึกษา ได้พัฒนาความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง การเตรียมรับมือต่อภาวะการขาดแคลนอาจารย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนที่ต้องเกษียณอายุราชการ รวมทั้งการออกนอกระบบราชการเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ทำให้ในปี พ.ศ. 2546 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมแบ่งส่วนราชการภายในมีภาควิชาทั้งสิ้น 14 ภาควิชาได้ปรับรวมเป็น 4 ภาควิชา โดยภาควิชาศิลปศึกษา ได้ปรับชื่อหน่วยงานเป็น สาขาวิชาศิลปศึกษา ภายใต้สังกัดของ ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา โดยยังคงมีพันธกิจในการผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางศิลปศึกษา เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์การเรียนรู้แนวใหม่ มีความเป็นครูและนักวิชาการที่พร้อมด้วยคุณธรรม 
          ผู้ที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศึกษาจะต้องมีทั้งความรู้พื้นฐานศิลปะในระดับมัธยมศึกษา เข้ามาศึกษาในหลักสูตรที่มีเนื้อหาครอบคลุม ในการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้รอบรู้ สามารถเชื่อมโยงความรู้ศาสตร์ต่างสาขาได้ ทำให้บัณฑิตสามารถไปศึกษาต่อและปฏิบัติงานได้หลากหลายหน้าที่  รวมทั้งยังสามารถนำวิธีการสอนที่มีอย่างหลากหลายมาใช้สื่อสาร ถ่ายทอดความคิดและความรู้จากมโนทัศน์และเนื้อหาสาระของศาสตร์ศิลปศึกษาให้แก่ผู้เรียน และควบคู่ไปกับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ได้เป็นเลิศ  ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา ให้เป็นหลักสูตร 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรมีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สามารถ ทำการสอนได้ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (คณะครุศาสตร์, 2547)
          เป็นเวลา 50 ปีที่สาขาวิชาศิลปศึกษาได้ผลิตบัณฑิตศิลปศึกษาในระดับปริญญาตรีออกไปรับใช้สังคมจำนวนกว่า 1,600 คน ทั้งในตำแหน่ง ครู อาจารย์ ที่เป็นผู้นำหน่วยงานของสถาบันการศึกษาระดับโรงเรียน วิทยาลัยอาชีวศึกษา ตลอดจนประกอบอาชีพอิสระทั้งในวงการศิลปะและการออกแบบ รวมทั้งนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันมีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตเป็นจำนวน 33 รุ่น ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำทางวิชาการและนักวิจัย ตลอดจนเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ แนวคิด เพื่อสร้างสรรค์และจัดการองค์ความรู้ทางศิลปะให้แก่วงการศึกษาของประเทศไทย  จากการสะสมองค์ความรู้ในศาสตร์ ประสบการณ์สอน และการวิจัยของคณาจารย์ในหลักสูตร ฯ รวมทั้งการมีฐานหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ใน ปี พ.ศ. 2547  ได้มีการเสนอจัดตั้งโครงการพัฒนาหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาศิลปศึกษาขึ้น (สาขาวิชาศิลปศึกษา, 2547) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สันติ คุณประเสริฐ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำไพ ตีรณสาร และรองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์ เป็นคณะทำงาน โครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยได้วางแผนและเตรียมความพร้อม ในปี พ.ศ. 2549 ได้บรรจุอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษ คือ อาจารย์ ดร.อภิชาติ  พลประเสริฐ  และในปีเดียวกันได้เสนอขอรับการจัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัย(University Development Committee, UDC) ซึ่งได้คัดเลือกบุคคลเข้ารับทุนการศึกษาฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551  มีคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก คือ อาจารย์ ดร.ขนบพร วัฒนสุขชัย และอาจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ และแม้ว่าภาควิชาศิลปศึกษาได้ถูกปรับหน่วยงานให้เป็นระดับสาขาวิชาฯ แต่ก็ยังมีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุคณาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มอีก คือ อาจารย์ ดร.โสมฉาย บุญญานันต์ ในปีพ.ศ. 2553 และ อาจารย์ ดร.สริตา   เจือศรีกุล ในปีพ.ศ.2561 การบรรจุคณาจารย์ระดับปริญญาเอกในเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการบูรณาการองค์ความรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ที่สะสมมาจากคณาจารย์อาวุโสที่กำลังเกษียณการทำงานไปสู่คณาจารย์รุ่นใหม่ ความพร้อมและศักยภาพของคณาจารย์ในหลักสูตรที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ ทฤษฎี และนวัตกรรมขั้นสูง ตลอดจนการอุดมด้วยทรัพยากรวิชาการและแหล่งเรียนรู้ของหลักสูตร ฯ ทำให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติอนุมัติหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา ในปี พ.ศ.2554 โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิตนักวิจัยทางศิลปศึกษาผู้สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางศิลปศึกษาขั้นสูง โดยใช้ศาสตร์ศิลปศึกษาเป็นแกนหลักในการพัฒนาไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งภูมิปัญญา ปัจจุบันเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาบัณฑิต ในสาขาวิชาศิลปศึกษาและสาขาวิชาศิลปะเข้าศึกษาในหลักสูตร ฯ แล้วเป็นรุ่นที่ 8  
 
รายนามคณาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ (ลำดับตามเวลาเกษียณ)
                    1. ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิรัตน์ พิชญไพบูลย์
                    2. ศาสตราจารย์กิตติคุณ วัฒนะ จูฑะวิภาต
                    3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ กำจร สุนพงษ์ศรี
                    4. รองศาสตราจารย์ ปิยะชาติ แสงอรุณ
                    5. รองศาสตราจารย์ ดร.เกษร ธิตะจารี
                    6. รองศาสตราจารย์ สัญญา วงศ์อร่าม  
                    7. รองศาสตราจารย์ ดร.สันติ คุณประเสริฐ
                    8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำไพ ตีรณสาร
                    9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ ฐิติอดิศัย
                  10. รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์
 
รายนามคณาจารย์ที่เคยปฏิบัติหน้าให้แก่สาขาวิชาศิลปศึกษา
                    1. รองศาสตราจารย์ ชัยณรงค์ เจริญพานิชย์กุล
                    2. รองศาสตราจารย์ สมโภชน์ ทองแดง
                   3. รองศาสตราจารย์ อิทธิ คงคากุล
                   4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มะลิฉัตร เอื้ออานันท์
                   5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุลักษณ์ ศรีบุรี
                   6. อาจารย์ กฤษญา เหลืองอานันทกุล
                   7. อาจารย์ สุรัตน์ วัณโณ
                   8. อาจารย์ ศุภชีพ จันทรวงษ์