x

ประวัติคณะ

 

                    คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2500 ตามพระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์  ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74  ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า  "ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง"  เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า “เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป” โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา)  เป็นคณบดีคนแรก ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์  จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็นคณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย  และเมื่อเป็น “คณะครุศาสตร์” ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ

1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา
2. แผนกวิชาประถมศึกษา
3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ
4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา 

 

 

ความเป็นมา

 

พ.ศ. 2500           ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 
พ.ศ. 2501           จัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 เพื่อใช้ทดลองปฏิบัติงานและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์
                          โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้  
                          1) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติงานในด้านวิชาการของคณะครุศาสตร์
                          2) เพื่อเป็นสถานศึกษาวิจัย ทดลองค้นคว้าหาความรู้และแนวปฏิบัติที่จะปรับปรุงวิชาครุศาสตร์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และ
                          3) เพื่อเป็นแหล่งวิทยาการทางการวิจัยและดำเนินการศึกษาการเรียนการสอนในระดับต่างๆ ที่เน้นทั้งวิชาการและคุณธรรม
พ.ศ. 2502           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพลศึกษา
พ.ศ. 2506           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยา แผนกวิชานิเทศและบริหารการศึกษาและแผนกวิชาโสตทัศนศึกษา
พ.ศ. 2510           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพยาบาลศึกษา
พ.ศ. 2512           แยกการบริหารงานโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม
                           และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษา
พ.ศ. 2513           เปิดโครงการทดลองชั้นอนุบาล
พ.ศ. 2520           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาอุดมศึกษา
พ.ศ. 2522           มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา”  .......
พ.ศ. 2529           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน
พ.ศ. 2531           ภาควิชาพยาบาลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์.....................
พ.ศ. 2536           มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาดนตรีศึกษา
พ.ศ. 2539           ภาควิชาจิตวิทยาได้รับการสถาปนาเป็นคณะจิตวิทยา
พ.ศ. 2541           ภาควิชาพลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
พ.ศ. 2547           แบ่งโครงสร้างภาควิชาเป็น 4 ภาควิชา ได้แก่
                           1) ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา
                           2) ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา
                           3) ภาควิชานโยบาย  การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา และ
                           4) ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
พ.ศ. 2554           ปรับโครงสร้างภาควิชาใหม่เป็น 6 ภาควิชา ได้แก่
                           1) ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา
                           2) ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
                           3) ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา
                           4) ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
                           5) ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และ
                           6) ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต
                           แบ่งการบริหารจัดการเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
                           1) ฝ่ายบริหาร และ
                           2) ฝ่ายวิชาการ
พ.ศ. 2555           มีพิธีเปิดแพรคลุมป้าย “อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย” เมื่อวันที่  26 มีนาคม 2555

 

วิสัยทัศน์

สถาบันผลิตครูและนักการศึกษาชั้นนำของภูมิภาค ที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมการศึกษา ขับเคลื่อนสังคมการศึกษาไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

พันธกิจ

  1. สร้างบัณฑิตครูและนักการศึกษาที่มีความสามารถทางวิชาการ วิชาชีพ ทักษะที่ทันสมัย จิตสาธารณะและความเป็นผู้นำ
  2. สร้างองค์ความรู้ ผลวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาที่มีผลกระทบสูง
  3. เสริมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ด้วยนวัตกรรมการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศ ทุกด้านและการเป็นแบบอย่างโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครูชั้นนำของประเทศ
  4. พัฒนาระบบการบริหารที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานโดยเน้นการมีส่วนร่วมและ ความเป็นธรรมาภิบาล
  5. ยกระดับคุณภาพครูของประเทศด้วยกลไกชุมชนการเรียนรู้และโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู
  6. ชี้นำและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมืองไทย
  7. ชี้นำและเป็นที่พึ่งทางการศึกษาให้กับประเทศ ตั้งแต่ระดับนโยบายถึงการปฏิบัติในห้องเรียนสู่การพัฒนาสังคมการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

 

ทำเนียบคณบดี


1. ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
พ.ศ.2500 - พ.ศ.2503


2. ศาสตราจารย์ ดร.ประชุมสุข อาชวอำรุง
พ.ศ.2503 - พ.ศ.2507 (รักษาการ)

 


3. ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
พ.ศ.2507 - พ.ศ.2514


4. ศาสตราจารย์ ดร.ประชุมสุข อาชวอำรุง
พ.ศ.2514 - พ.ศ.2518

 


5. ศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สาธร
พ.ศ.2518 - พ.ศ.2519


6. ศาสตราจารย์ อำไพ สุจริตกุล
พ.ศ.2519 - พ.ศ.2523


7. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา
พ.ศ.2523 - พ.ศ.2527


8. รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ อัตชู
พ.ศ.2527 - พ.ศ.2531


9. ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์
พ.ศ.2531 - พ.ศ.2535


10. ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
พ.ศ.2535 - พ.ศ.2539 (สมัยที่ 1)


11. ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์
พ.ศ.2539 - พ.ศ.2543 (สมัยที่ 1)


12. ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
พ.ศ.2543 - พ.ศ.2547 (สมัยที่ 2)


13. ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์
พ.ศ.2547 - พ.ศ.2551 (สมัยที่ 2)


14. ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี
พ.ศ.2551 - พ.ศ.2555


15. ศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง
พ.ศ.2555 - พ.ศ.2557


16. รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ชลาภิรมย์
พ.ศ.2557 - พ.ศ.2559


17. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ
พ.ศ.2559 - พ.ศ.2563


18. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ
พ.ศ.2563 - ปัจจุบัน