x
Submitted by CUEDU_PR on 20 August 2020

เมื่อสังคมเปลี่ยน ครูต้องพัฒนาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ ต้องก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เข้ามาท้าทายครู ทั้งการปรับหลักสูตรเพื่อสอนทักษะในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนในช่วงโรคระบาด รวมถึงการเคลื่อนไหวในรั้วโรงเรียนของนักเรียน ครูถูกเรียกร้องให้ก้าวทันความเป็นไปในสังคมเพื่อทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติที่สมบูรณ์พร้อม “ทางรอด” ของครูท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คืออะไร ผศ.ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้

ผศ.ดร.ภาวิณี เปิดเผยว่าในปี 2565 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเน้นเนื้อหาสาระ อิงมาตรฐาน ทำตามเกณฑ์แล้วตัดเกรดมีแนวโน้มอาจจะถูกยกเลิก และเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สอนโดยมีเป้าหมายให้เด็กใช้ความรู้ผนวกกับทักษะและคุณลักษณะบางประการของตนในสถานการณ์จริงได้ เมื่อใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ การเรียนการสอนจะแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ภาพของการแบ่งรายวิชาอาจไม่มีอีกต่อไป แต่กลายเป็นการเรียนรู้แบบขอบข่ายรายวิชา หรือ learning area แทน การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ต่อตัวครูเช่นเดียวกัน.

ผศ.ดร.ภาวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ควรเติมใส่หลักสูตรครุศาสตร์มากขึ้น คือ การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูควรจะมองเห็นคุณค่าว่าเด็กแต่ละคนมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรายวิชาแยกออกมาสอนเรื่องความแตกต่างอย่างชัดเจน สามารถใช้วิธีสอดแทรกในแต่ละรายวิชาที่มีอยู่ก็ได้ ถ้าอยากให้การเรียนออนไลน์สนุกสนานเหมือนเรียนในห้องเรียน ก็อาจต้องสร้างการเรียนรู้ด้วยแนวคิด Gamification หรือนำหลักการของเกมมาใช้ สร้างบทเรียนให้มีความท้าทาย และต้องจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นมากขึ้น”

“ในวันที่ทุกคนมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ครูควรจะตั้งตนเป็นกลาง มองทุกๆ เรื่องทั้งด้านดีและด้านเสีย สอนให้เด็กมองอย่างรอบด้าน และต้องปฏิบัติกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” ผศ.ดร.ภาวิณี กล่าวในที่สุด

ติดตารมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Fagebook : The101.world https://www.facebook.com/1624013471241224/posts/2369777733331457/

ข้อมูลจาก ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ