x
Submitted by CUEDU_PR on 23 July 2020
ครุศาสตร์ จุฬา ฯ แนะการใช้สื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในยุค New Normal
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ ห้อง 409 อาคาร 2 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และอ.ดร.ปิยานี จิตร์เจริญ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นการเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในยุค New Normal ดังนี้
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าการใช้สื่อให้เหมาะกับนักเรียนโดยครูผู้สอนต้องวิเคราะห์ และออกแบบสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้เหมาะสมโดยใช้หลัก ASSURE Model หรือการสื่อการสอนอย่างเป็นระบบโดยใช้แบบจำลอง ประกอบด้วย การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน กำหนดวัตถุประสงค์ การเลือก ดัดแปลง และออกแบบสื่อใหม่ รวมถึงการประเมิน เพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
อาจารย์ ดร.ปิยานี จิตร์เจริญ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม มองถึงความสำคัญของสื่อ สิ่งที่เราเห็นส่วนใหญ่เป็นสื่อที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หนังสือเรียน รวมถึงสื่อที่เป็นตัวบุคคล เช่น ครู ผู้ปกครอง รวมไปถึงกิจกรรมซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การใช้สื่อในโรงเรียนที่สอนเด็กประถมมีความสัมพันธ์กับเด็กอย่างมาก นอกจากทำให้เด็กมีความสนใจกับบทเรียนแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดการรับรู้และสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับของจริงหรือมองเห็นภาพ ดังครูผู้ใช้สื่อจึงควรนสื่อมาใช้ให้เหมาะกับวิชา ทำให้เข้าในสิ่งที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
 
ทั้งนี้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ส่งผลให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้นำแพลตฟอร์มในการเรียนออนไลน์ในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น ชื่อว่า CUD Smart School มาใช้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ Tablet หรือว่าโทรศัพท์ โดยบรรจุเนื้อหาต่างๆที่คล้ายกับห้องเรียนเสมือนจริงมากที่สุด ให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เลย และสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ ทำให้มีความต่อเนื่องในการเรียน
 
ขอขอบคุณศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ในการประสานงาน